Ludendorff, Erich (1865-1937)

พลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ (๒๔๐๘-๒๔๘๐)

​     ​​​พลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ เป็นผู้นำกองทัพของเยอรมนีระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* เป็นผู้มีอัจฉริยะในการวางแผนทางยุทธศาสตร์และวิธีการรบอย่างยอดเยี่ยม เขามีส่วนในการปรับแผนชลีฟเฟิน (Schlieffen Plan)* อันมีชื่อเสียงและรณรงค์ให้มีการปรับปรุงกองทัพเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามของเยอรมนีตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทั้งยังเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ จอมพล เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* ซึ่งมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังชัยชนะของเยอรมนีเหนือกองทัพรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก และเป็นผู้สนับสนุนให้เยอรมนีใช้ยุทธศาสตร์ "สงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขต" (Unrestricted Submarine Warfare) ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ลูเดนดอร์ฟเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่รุนแรงในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Brest-Litovsk Treaty)* ที่เยอรมนีลงนามกับรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๑๘ หลังสงครามลูเดนดอร์ฟเป็นผู้นำกลุ่มนักการเมืองชาตินิยมทำการโค่นล้มการปกครองของ สาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ในกบฏคัพพ (Kapp Putsch)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ และกบฏโรงเบียร์ (Beer Hall Putsch)* ที่นครมิวนิกใน ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่ไม่ประสบความสำเร็จทั้ง ๒ ครั้ง นอกจากนี้เขายังเป็นสมาชิก

พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party-NSDAP; Nazi Party)* ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* เป็นผู้นำ และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๙๒๔ แต่พ่ายแพ้จอมพลฮินเดนบูร์กในการแข่งขันเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๕
     ลูเดนดอร์ฟเกิดเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๕ ที่ตำบลครุสเซเวีย (Kruszewnia) ใกล้เมืองโพเซิน (Posen) หรือโพซนาน (Poznań) ในราชอาณาจักรปรัสเซีย ในครอบครัวเชื้อสายผู้ดีที่มีฐานะยากจน บิดาเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งรับราชการทหารในกองพันทหารม้าของกองทัพปรัสเซีย ส่วนคลารา ฟอน เทมเพลฮอฟฟ์ (Klara von Tempelhoff) มารดาก็มาจากตระกูลขุนนางทหารเช่นกัน ลูเดนดอร์ฟเติบโตในชนบทและได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากป้าทางฝ่ายมารดา ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบกที่เพลิน (Plön) และลิชเทอร์เฟลด์ (Lichterfeld) เขาเป็นเด็กที่เฉลียวฉลาดคล่องแคล่วว่องไวและเก่งทางด้านคณิตศาสตร์อย่างยอดเยี่ยม ทั้งยังเป็นผู้มีวินัยในการทำงานอย่างหาผู้เสมอเหมือนได้ยาก ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ เขารักษาไว้ตลอดชีวิต
     ใน ค.ศ. ๑๘๘๓ ขณะมีอายุ ๑๘ ปี ลูเดนดอร์ฟได้เข้าประจำการเป็นนายทหารในกองพันทหารราบคุณสมบัติอันโดดเด่นทำให้เขาได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารในหน่วยเสนาธิการทหารใน ค.ศ. ๑๘๙๔ ซึ่งทำให้ เขามีโอกาสศึกษายุทธวิธีระดับสูงและกลศึกต่าง ๆ จากเคานท์อัลเฟรด ฟอน ชลีฟเฟิน (Alfred von Schlieffen)* หัวหน้าคณะเสนาธิการทหารของเยอรมนี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ลูเดนดอร์ฟได้เลื่อนยศเป็นผู้บังคับการกรมที่ ๒ ของหน่วยเสนาธิการทหารบกซึ่งรู้จักกันทั่วไปว่าเป็นหน่วยเสนาธิการใหญ่ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการวางแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าในการรบและกำหนดแผนการระดมพลรวมทั้งการส่งกำลังรบไปยังหน่วยต่าง ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ ลูเดนดอร์ฟได้มีโอกาสทำงานสำคัญร่วมกับนายพลเฮลมุท ฟอน มอลท์เคอ (Helmuth von Moltke) ซึ่งเป็นเสนาธิการทหารในการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ชลีฟเฟินเพื่อเตรียมการโจมตีฝรั่งเศสในสงครามที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แผนชลีฟเฟินเป็นแผนการรบสำคัญที่เยอรมนีจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในแนวรบด้านตะวันตก โดยมีเป้าหมายที่จะพิชิตฝรั่งเศสให้ได้จากการรุกใหญ่ครั้งเดียว ซึ่งต้องอาศัยเส้นทางเดินทัพผ่านทางใต้ของเนเธอร์แลนด์และละเมิดความเป็นกลางของเบลเยียมที่ มหาอำนาจได้เคยค้ำประกันไว้ แต่ลูเดนดอร์ฟและมอลท์เคอปรับเปลี่ยนแผนนี้โดยให้กองทัพเยอรมันพยายามรักษาฐานที่มั่นในชายแดนตอนใต้ตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ไปจนถึงแคว้นลอแรน (Lorraine) และแทนที่จะเดินทัพผ่านเนเธอร์แลนด์ตามแผนเดิมกองทัพเยอรมันจะต้องทำให้ข้าศึกคาดไม่ถึงด้วยการเข้ายึดป้อมปราการที่เมืองลีเอช (Liége) ที่อยู่ทางตะวันออกของ เบลเยียมแทน
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙๑๓ ลูเดนดอร์ฟยังมีบทบาทสำคัญในการขยายกำลังพลและกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพเยอรมัน เขาเห็นว่าสงครามเป็นวิธีทางการทูตประการหนึ่ง ซึ่งแต่ละชาติใช้เพื่อแสวงหาอำนาจและมีทัศนะว่าสันติภาพเป็นเพียงช่วงเวลาพักระหว่างสงครามเท่านั้น ฉะนั้นจึงเป็นหน้าที่ของแต่ละชาติที่จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามและควรมีการเสริมสร้างทรัพยากรทุกอย่างเพื่อมุ่งไปสู่การทำสงคราม ลูเดนดอร์ฟรณรงค์การเสริมสร้างกองทัพเยอรมันให้แข็งแกร่งเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นในท่ามกลางบรรยากาศของการสะสมอาวุธของมหาอำนาจ โดยการเสนอความคิดเห็นต่อผู้บังคับบัญชาระดับสูงโดยตรงและเปิดเผย ซึ่งเป็นการละเมิดประเพณีปฏิบัติของกองทัพเยอรมันในขณะนั้นที่จำกัดให้ไกเซอร์และผู้บัญชาการทหารสูงสุดเท่านั้นที่จะสามารถแสดงบทบาทหรือความเห็นทางการเมืองได้โดยที่นายทหารเสนาธิการจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแต่อย่างใด นอกจากนี้ลูเดนดอร์ฟยังติดต่อกับกลุ่มการเมืองชาตินิยมหัวรุนแรงกลุ่มต่าง ๆ ที่สนับสนุนนโยบายเสริมสร้างกำลังอาวุธ ซึ่งทำให้เขาเกิดความเชื่อว่าการจะดำเนินนโยบายสงครามได้อย่างเข้มแข็งจำเป็นต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็งด้วย อย่างไรก็ดี แม้การรณรงค์ของลูเดนดอร์ฟจะส่งผลให้มีการเสริมสร้างแสนยานุภาพของกองทัพ แต่การกระทำของเขาก็สร้างความไม่พอใจให้แก่นายทหารระดับสูงและบรรดาผู้มีอำนาจในกองทัพหลายคนทำให้เขาถูกย้ายไปเป็นผู้บังคับการกองพันทหารราบใน ค.ศ. ๑๙๑๓
     เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ ลูเดนดอร์ฟดำรงตำแหน่งเป็นรองเสนาธิการทหารของนายพลคาร์ล ฟอน บือโลว์ (Karl von Bülow) ผู้บัญชาการกองทัพที่ ๒ ในแนวรบด้านตะวันตก เขาได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการโจมตีและยึดป้อมต่าง ๆ ที่เมืองลีเอชไว้ให้ได้อย่างรวดเร็วตามแผนชลีฟเฟินซึ่งลูเดนดอร์ฟก็สามารถทำได้สำเร็จ ชัยชนะในครั้งนี้ทำให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นหัวหน้าเสนาธิการทหารของนายพลฮินเดนบูร์กแห่งกองทัพที่ ๘ ประจำแนวรบด้านตะวันออก บุคคลทั้งสองเข้ากันได้ดีเพราะเกิดและเติบโตในบริเวณอีสต์ปรัสเซีย (East Prussia) ทั้งมีบุคคลิกภาพที่สอดคล้องและช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน จึงทำให้การประสานงานด้านการรบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ลูเดนดอร์ฟจะเป็นคนกระตือรือร้นและกล้าได้กล้าเสียแต่เมื่อถึงคราวคับขันหรือตึงเครียดมาก ๆ เขามักมีอาการทางประสาทในบางครั้งจนต้องพึ่งจิตแพทย์ ขณะที่นายพลฮินเดนบูร์กเป็นคนหนักแน่นและมีอาวุโสกว่าลูเดนดอร์ฟถึง ๒๐ ปี ลูเดนดอร์ฟจึงกลายเป็นคนสนิทที่เชื่อฟังฮินเดนบูร์กเป็นอย่างมาก ในด้านการรบนั้นเขาเป็นกำลังสำคัญในการวางแผนทางยุทธศาสตร์ให้แก่นายพลฮินเดนบูร์กโดยการใช้ความรู้ภาคพื้นดินและความคุ้นเคยเป็นอย่าง ดีกับสถานที่ในแถบอีสต์ปรัสเซีย ผสมผสานกับความเชี่ยวชาญในการใช้กำลังกองทัพที่เหนือกว่าข้าศึกทั้งในด้านกำลังอาวุธและวิธีการรบ จนทำให้กองทัพที่ ๘ ของนายพลฮินเดนบูร์กสามารถรบชนะกองทัพรัสเซียที่มี ขนาดใหญ่กว่ามากได้อย่างรวดเร็วในยุทธการที่เมืองแทนเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg) เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ และอีกครั้งในการยุทธ์ที่บริเวณทะเลสาบมาเซาเรียน (Masaurian Lakes) ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ ชัยชนะอันงดงามทั้ง ๒ ครั้งนี้นอกจากทำให้กองทัพเยอรมันเป็นฝ่ายได้เปรียบในแนวรบด้านตะวันออกอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสร้างชื่อเสียงให้แก่ลูเดนดอร์ฟและฮินเดนบูร์กเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะฮินเดนบูร์กนั้นได้รับยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษของชาติผู้กอบกู้อีสต์ปรัสเซียไว้ได้
     ลูเดนดอร์ฟเป็นเสนาธิการทหารคนสนิทที่ช่วยฮินเดนบูร์กบัญชาการรบในแนวรบด้านตะวันออกตลอดระยะเวลา ๒ ปี ใน ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาพยายามเสนอแผนเผด็จศึกกองทัพรัสเซียโดยการระดมกำลังทหารจากแนวรบด้านตะวันตกมาเสริมทัพทางด้านตะวันออกเพื่อเปิดการโจมตีรัสเซียครั้งใหญ่ แต่แผนของเขาไม่ได้รับการอนุมัติจากกองบัญชาการสูงสุด อย่างไรก็ดีฮินเดนบูร์กและลูเดนดอร์ฟก็ยังคงรักษาแนวรบด้านตะวันออกไว้ได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งกองทัพเยอรมันในแนวรบด้านตะวันตกประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่ตำบลแวร์เดิง (Verdun) ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ และฮินเดนบูร์กได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพเยอรมันแทนที่พลเอก เอริช ฟอน ฟัลเคนไฮน์ (Erich von Falkenhayn)* ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ แล้ว ลูเดนดอร์ฟจึงได้รับแต่งตั้งเป็นพลเอกนาย ทหารฝ่ายพลาธิการของกองทัพเยอรมัน (Quartermaster General) ซึ่งเป็นตำแหน่งรองจากจอมพลฮินเดนบูร์ก และมีอำนาจหน้าที่ในด้านการรบด้วย ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้คนแรกในประวัติศาสตร์กองทัพเยอรมันที่มีอำนาจในด้านปฏิบัติการทางทหาร
     จากนั้นพลเอก ลูเดนดอร์ฟก็กลายเป็นผู้จัดการคนสำคัญที่สุดของกองทัพเยอรมันตลอดมาจนเกือบสิ้นสุดสงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๘ แม้ว่าในทางทฤษฏีจอมพลฮินเดนบูร์กจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าเขาก็ตาม ในการบัญชาการรบนั้นลูเดนดอร์ฟได้พยายามทุกวิถีทางที่จะทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ เขาเสนอให้จอมพลฮินเดนบูร์กใช้แผนยุทธศาสตร์การทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จ (total war) โดยการระดมกำลังรบทั้งหมดของ กองทัพทำการรบทั้ง ๒ แนวพร้อม ๆ กันเพื่อรักษาพื้นที่ที่เยอรมนีตีได้ไว้ เพราะเชื่อว่าหากจะมีการเจรจาสันติภาพหลังสงครามเกิดขึ้นก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่เยอรมนีเป็นฝ่ายมีชัยและได้ดินแดนเพิ่มขึ้นในเวลาเดียวกันด้วย นักประวัติศาสตร์ในเวลาต่อมามักวิพากษ์วิจารณ์ว่า แนวคิดทางยุทธศาสตร์ของลูเดนดอร์ฟเป็นการเสี่ยงอย่างมากและไม่คำนึงถึงผลของการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษซึ่งจะทำให้ทหารเยอรมันต้องประสบกับความขาดแคลนและอ่อนกำลังลงจนมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำสงครามด้วย อย่างไรก็ดี ความพยายามของเยอรมนีในการป้องกันแนวรบด้านตะวันตกในช่วง ค.ศ. ๑๙๑๗ กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ยิ่งกว่านั้นแผนการทำสงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขตของกองทัพเรือเยอรมันที่เขาเป็นผู้สนับสนุนให้ฮินเดนบูร์กเป็นผู้สั่งการนั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการใช้เรือดำน้ำโจมตีเรือของชาติต่าง ๆ รวมทั้งชาติที่เป็นกลางในน่านน้ำสากลโดยไม่เลือกประเภทของเรือก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษต้องพังทลายลงแต่อย่างใด ในทางตรงข้ามกลับชักนำให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในการรบของเยอรมนีพลิกผันลงอย่างรวดเร็วจนพ่ายแพ้สงครามในที่สุด
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ลูเดนดอร์ฟผลักดันให้ฮินเดนบูร์กจัดตั้งคณะผู้ปกครองประเทศที่ เรียกว่า "Third Supreme Council" ขึ้น โดยประกอบด้วยฝ่ายทหารและฝ่ายธุรกิจอุตสาหกรรมทำหน้าที่แทนรัฐสภาและรัฐบาลเยอรมันชั่วคราวในขณะที่รัฐบาลและรัฐสภาเยอรมันก็ยังคงมีอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เยอรมนีสามารถระดมแรงงานและทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจทั้งหมดเข้าสู่การทำสงครามได้อย่างเต็มรูปแบบเพื่อให้เยอรมนีชนะสงครามได้อย่างเบ็ดเสร็จตามเป้าหมาย การจัดตั้งคณะผู้ปกครองแบบเผด็จการนี้ทำให้อำนาจของไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II ค.ศ. ๑๘๘๘-๑๙๑๘)* ถูกลดลงไปอย่างมาก และฮินเดนบูร์กซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้ปกครองก็เป็นเพียงหุ่นเชิดที่คอยรับหน้าแทนลูเดนดอร์ฟซึ่งมีอำนาจในการสั่งการทุกอย่างทั้งในกิจการด้านการทหาร การเมือง และพลเรือน ยิ่งไปกว่านั้นเขายังมีบทบาทสำคัญที่กดดันให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงปลดนายกรัฐมนตรีทีโอบัลด์ เบทมัน-ฮอลล์เวก (Theobald Bethman-Hollweg) ซึ่งเป็นนักการเมืองสายกลางที่สนับสนุนสันติภาพออกจากตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗
     หลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียได้ขอถอนตัวออกจากสงครามโดยได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพเบรสต์ลิตอฟสค์กับเยอรมนีในวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ลูเดนดอร์ฟมีบทบาทสำคัญในการชี้นำให้ฮินเดนบูร์กเรียกร้องสิ่งตอบแทนจากรัสเซียอย่างรุนแรงทั้งในเรื่องค่าปฏิรรมสงครามและดินแดน เยอรมนีซึ่งเผด็จศึกในแนวรบด้านตะวันออกได้สำเร็จได้เคลื่อนย้ายกำลังพลมาสมทบในแนวรบด้านตะวันตกซึ่งกำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง ลูเดนดอร์ฟได้เสนอให้ฮินเดนบูร์กสั่งการให้กองทัพเยอรมันทำการรุกครั้งใหญ่ในแนวรบด้านตะวันตกซึ่งมีสมรภูมิส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศสตามแผนการรุกของลูเดนดอร์ฟ (Ludendorff Offensive) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยมีเป้าหมายที่จะเผด็จศึกด้านฝรั่งเศสและอังกฤษให้เสร็จสิ้นก่อนที่กองทัพจากสหรัฐอเมริกาจะเดินทางมาถึงยุโรป อย่างไรก็ดี การรุกในแนวรบด้านตะวันตกซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายเดือนก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในฝรั่งเศสซึ่งได้รับกำลังพลสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาสามารถต้านทานกองทัพเยอรมันไว้ได้ทั้งตีรุกกลับจนกองทัพเยอรมันก็ต้องยอมถอยร่นจากแนวรบฮินเดนบูร์ก (Hindenburg Line)* เข้ามาในเยอรมนีในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑
     ขณะเดียวกันบรรดาพันธมิตรของเยอรมนีได้แก่ ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรีย และตุรกีก็ทยอยกันแพ้สงครามต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ลูเดนดอร์ฟจึงตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ดังนั้น ในเดือน กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เขาจึงกระตุ้นให้รัฐบาลเปิดการเจรจาหยุดยิงกับฝ่ายสัมพันธมิตรและให้มีการเจรจาสันติภาพซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ที่เสนอโดยประธานาธิบดีวูดโรว์วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกา รวมทั้งให้มีการยุบคณะผู้ปกครอง Third Supreme Council ลงและมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้ระบบรัฐสภาโดยเร็ว แต่เมื่อลูเดนดอร์ฟทราบเงื่อนไขที่ฝ่ายสัมพันธมิตรเรียกร้องในการสงบศึก (Armistice)* เขาไม่สามารถยอมรับได้จึงเรียกร้องให้เยอรมนีทำการสู้รบต่อไปอย่างไรก็ดีในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ลูเดนดอร์ฟถูกบังคับให้ลาออก ในขณะที่ฮินเดนบูร์กยังคงดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของกองทัพเยอรมันต่อไป ทำให้ลูเดนดอร์ฟไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่เยอรมนียอมแพ้สงครามแล้วเขาก็ลี้ภัยไปอยู่ในประเทศสวีเดนและใช้ชีวิตส่วนใหญ่เขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การทำสงครามหลายเรื่อง ซึ่งเขามักอ้างว่าการที่เยอรมนีต้องแพ้สงครามนั้นเป็นเพราะ "ถูกแทงจากข้างหลัง" โดยพวกนักการเมืองฝ่ายซ้าย ต่อมาฮิตเลอร์ได้นำแนวความคิดดังกล่าวไปใช้
     ลูเดนดอร์ฟเดินทางกลับเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๒๐ และหันมาทำงานทางด้านการเมืองโดยการรณรงค์แนวคิดทางการเมืองแบบชาตินิยมและเขียนหนังสือด้านยุทธศาสตร์การทหารรวมทั้งนำเสนอแนวคิดทางจิตวิญญาณด้วย ภาพลักษณ์วีรบุรุษสงครามซึ่งเขามักแสดงตนว่าเป็นผู้บัญชาการรบแต่เพียงผู้เดียวของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่ ๑ และการเผยแพร่ความเชื่อที่ว่ากองทัพเยอรมันไม่ได้พ่ายแพ้ในสมรภูมิแต่กลับต้องยอมจำนนให้แก่การเมืองภายใน ส่งผลให้ชาวเยอรมันซึ่งอยู่ในบรรยากาศหดหู่จากความพ่ายแพ้จำนวนไม่น้อยชื่นชมในตัวเขาและมีทัศนคติที่เคลือบแคลงสงสัยต่อความน่าเชื่อถือของสาธารณรัฐไวมาร์ นอกจากนี้การที่เขามีภาพลักษณ์เป็น "นายพลผู้ถูกหักหลังและถูกเข้าใจผิด" ก็ทำให้กลุ่มทางการเมืองชาตินิยมกลมต่าง ๆ ในเยอรมนีมักอาศัยชื่อเขาเป็นผู้นำก่อการกบฏโค่นล้มรัฐบาลไวมาร์ด้วย เช่นกบฏคัพพ์ใน ค.ศ. ๑๙๒๒ และกบฏโรงเบียร์ที่นครมิวนิกใน ค.ศ. ๑๙๒๓ แต่การกบฏเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลสำเร็จทางการเมืองตามที่ลูเดนดอร์ฟคาดการณ์ไว้ทั้งยังทำให้เขาถูกดำเนินคดีแต่ไม่ถูกลงโทษ ต่อมาลูเดนดอร์ฟได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคนาซีและได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนพรรคนาซีในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๔-๑๙๒๕ เขายังลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ด้วย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่ฮินเดนบูร์กซึ่งกลายเป็นศัตรูคนสำคัญของเขามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลง
     ตำราเกี่ยวกับทฤษฎีทางยุทธศาสตร์การทำสงครามของลูเดนดอร์ฟที่สำคัญได้แก่ Documents of the German General Staff, 1916-1918 ( ค.ศ. ๑๙๒๑) Strategy and Politics ( ค.ศ. ๑๙๒๑) และ Total War ( ค.ศ. ๑๙๓๕) โดยเฉพาะในหนังสือเล่มหลังนี้เขาได้เสนอทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับการทำสงครามซึ่งโต้แย้งทฤษฎีคลาสสิกของคาร์ล ฟอน เคลาเซวิทซ์ (Carl von Clausewitz) เสนาธิการทหารชาวปรัสเซียในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเสนอว่าสงครามคือการดำเนินการทางการเมืองโดยอาศัยวิธีอื่นที่นอกเหนือไปจากวิธีการทางการเมือง แต่ลูเดนดอร์ฟเสนอความเห็นที่ขัดแย้งว่าการเมืองควรเป็นองค์ประกอบที่รองรับและช่วยเหลือการทำสงครามของรัฐซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการระดมพลังทั้งในด้านจิตวิทยาและขวัญกำลังใจของชนทั้งชาติจึงจะประสบความสำเร็จ
     ในด้านชีวิตส่วนตัวนั้น ลูเดนดอร์ฟมีชีวิตที่ค่อนข้างโลดโผน ภรรยาคนแรกของเขาเป็นสาวสวยที่มีเรื่องอื้อฉาวเนื่องจากการหย่าขาดจากสามีเดิมเพื่อมาแต่งงานใหม่กับลูเดนดอร์ฟ แต่ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๖ เขากลับยืนกรานขอหย่าขาดจากเธอเพื่อไปแต่งงานใหม่กับมาทิลเดอ ฟอน เคมนิทซ์ (Mathilde von Kemnitz) นักปรัชญาและนักประสาทวิทยาผู้มีชื่อเสียงของเยอรมนีการแต่งงานครั้งนี้ทำให้ลูเดนดอร์ฟหันไปสนใจในเรื่องศาสตร์ลึกลับและจิตวิญญาณ ทั้งเขาและภรรยาร่วมกันสร้างความเชื่อว่าพวกยิว พวกคริสเตียน และพวกสมาคมลับฟรีเมสัน (Freemasons) มีอำนาจเหนือธรรมชาติและร่วมกันบ่อนทำลายลูเดนดอร์ฟและเยอรมนีรวมทั้งเป็นสาเหตุให้เยอรมนีแพ้สงคราม ความคิดดังกล่าวนี้ผสมผสานกับความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณทำให้หลายคนเชื่อว่าลูเดนดอร์ฟเริ่มมีจิตวิปลาส อย่างไรก็ดี บุคคลทั้งสองก็ได้ช่วยกันเผยแพร่ความคิดในหมู่สาธารณชนจนพวกเขามีสาวกจำนวนหนึ่ง แต่ก็ส่งผลให้ลูเดนดอร์ฟเริ่มแตกแยกจากบรรดาพันธมิตรทางการเมืองทั้งในกองทัพและในพรรคนาซี ดังนั้น ในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฮิตเลอร์ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้นำของเยอรมนีจึงเป็นไปด้วยความเย็นชา และทำให้ลูเดนดอร์ฟไม่มีบทบาทในอาณาจักรไรค์ที่ ๓ (The Third Reich) แต่ประการใด
     ในบั้นปลายแห่งชีวิต พลเอก เอริชลูเดนดอร์ฟ เก็บตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว และถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๓๗ ที่บ้านพักในนครมิวนิกขณะมีอายุ ๗๒ ปี.



คำตั้ง
Ludendorff, Erich
คำเทียบ
พลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ
คำสำคัญ
- เคลาเซวิทซ์, คาร์ล ฟอน
- เบทมัน-ฮอลล์เวก, ทีโอบัลด์
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- แวร์เดิง, ตำบล
- เคมนิทซ์, มาทิลเดอ ฟอน
- ฟัลเคนไฮน์, เอริช ฟอน
- ยุทธการที่เมืองทันเนนแบร์ก
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- ลีแอช, เมือง
- การทำสงครามแบบเบ็ดเสร็จ
- อีสต์ปรัสเซีย
- มาเซาเรียน, ทะเลสาบ
- บือโลว์, คาร์ล ฟอน
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
- ลอร์แรน, แคว้น
- มอลท์เคอ, เฮลมุท ฟอน
- เทมเพลฮอฟฟ์, คลารา ฟอน
- โพเซิน, เมือง
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี
- โพซนาน, เมือง
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- ชลีฟเฟิน, อัลเฟรด ฟอน, เคานท์
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สาธารณรัฐไวมาร์
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช ฟอน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามเรือดำน้ำอย่างไม่มีขอบเขต
- แผนการรุกของลูเดนดอร์ฟ
- กบฏโรงเบียร์
- แผนชลีฟเฟิน
- กบฏคัพพ์
- ฮินเดนบูร์ก, แนวรบ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- วิลสัน, วูดโรว์
- สภาไรค์ชตาก
- การสงบศึก
- สมาคมลับฟรีเมสัน
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1865-1937
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๐๘-๒๔๘๐
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 3.L 143-268.pdf